1. การจัดหาสารเคมี (Chemical procurement)
1.1 เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการรับสารเคมีเข้าห้องปฏิบัติการ จำเป็นต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี รวมถึงวิธีการจัดเก็บ และการจัดการของเสียที่เกิดขึ้น
1.2 จัดให้มีการบันทึกวันที่ ที่ได้รับสารเคมีเข้ามาในห้องปฏิบัติการ
1.3 สารเคมี ที่ยอมรับเพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการ ควรได้รับในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม มีฉลากระบุรายละเอียดที่ชัดเจน, เอกสารข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ (Material safety data sheets) หรือ MSDS ไม่ควรรับสารเคมี กรณีที่บรรจุภัณฑ์มีการชำรุด เสียหาย ระหว่างการขนส่ง
1.4 ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการได้ทราบกรณีเป็นสารเคมีอันตราย หรือ สารก่อมะเร็ง ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีการจัดเก็บเป็นพิเศษ และมีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง
2. การดำเนินการทั่วไป
2.1 เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการทุกคน ต้องรับทราบนโยบายด้านความปลอดภัย รวมทั้งต้องอ่านคู่มือความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการก่อนเริ่มปฏิบัติงาน
2.2 เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจะต้องทราบอันตรายต่างๆที่อาจเกิดขึ้น และแนวทางป้องกัน ก่อนเริ่มลงมือทำงาน โดยเฉพาะเมื่อต้องเริ่มงานใหม่
2.3 เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจะต้องทราบตำแหน่งของอุปกรณ์ช่วยเหลือ และ วิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเมื่อได้รับสารเคมี
2.4 เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจะต้องทราบวิธีการกำจัดของเสียที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
2.5 เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจะต้องตรวจสอบว่าภาชนะบรรจุสารเคมีแต่ละตัว มีป้ายและฉลากที่ถูกต้อง และชัดเจน
2.6 การใช้เครื่องมือ ต้องเป็นไปตามลักษณะการใช้งานที่แท้จริงของเครื่องมือนั้นๆ
2.7 ไม่ควรปฏิบัติงานโดยลำพัง กรณีที่ต้องปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารอันตราย
2.8 ห้ามมิให้นำเข้ามา เก็บ หรือ รับประทานอาหารในห้องปฏิบัติการ
2.9 ห้ามมิให้นำเครื่องแก้ว หรือภาชนะที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ ไปใช้เพื่อการปรุงอาหาร
2.10 กรณีเกิดกลิ่นผิดปกติในห้องปฏิบัติการควรแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที
2.11 ไม่ควรใช้ภาชนะแก้วที่มีรอยแตกร้าว
2.12 ควรสวมใส่แว่นตา(Safety glasses) ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ยกเว้นใน การเทสารละลายสารเคมี ควรเปลี่ยนมาใช้ gogglesแทน
2.13 ไม่ควรใช้มือในการเก็บ ภาชนะแก้วที่หล่นแตก ให้ใช้ไม้กวาดพื้น และอุปกรณ์ทำความสะอาดที่เหมาะสม
2.14 ให้รายงานการเกิดอุบัติเหตุใดๆที่เกิดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการแก่ผู้บังคับบัญชาโดยทันที
3.การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี (Chemical handling)
3.1 ข้อพึงปฏิบัติทั่วไป ในการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ
3.1.1 ห้ามใช้เปลวไฟในการให้ความร้อนแก่ของเหลวไวไฟ หรือในขบวนการกลั่น (distillation)
3.1.2 ให้ความระมัดระวังในการจุดไฟในห้องปฏิบัติการ ดับไฟทันทีเมื่อเลิกใช้งาน ไม่ควรปล่อยให้ไฟติดทิ้งไว้โดยไม่มีคนดู
3.1.3 ก่อนที่จะทำการจุดไฟ ควรย้ายวัสดุไวไฟออกจากบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ควรแน่ใจว่าได้ปิดภาชนะที่บรรจุของเหลวไวไฟอย่างดีแล้ว
3.1.4 ควรเก็บสารเคมีไวไฟในตู้สำหรับเก็บสารเคมีไวไฟโดยเฉพาะ
3.1.5 ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ ในกรณีที่มีสารระเหยไวไฟ (Volatile flammable material)
3.1.6 ควรใช้ตู้ดูดควันในการถ่ายเท ผสม หรือ ให้ความร้อนสารเคมี
3.1.7 กรณีสามารถเลือกใช้สารเคมีได้ ควรเลือกใช้สารเคมี ที่มีความเป็นพิษน้อยที่สุด ในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้
3.1.8 อ่านคู่มือ และเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อต้องปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารก่อมะเร็ง
3.2 ข้อพึงปฏิบัติเมื่อต้องปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี
3.2.1 ทราบอันตรายของสารเคมีที่ตนต้องใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถทราบได้จาก เอกสารข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ (Material safety data sheets) หรือ MSDS
3.2.2 ทราบสถานที่และวิธีการเก็บรักษาสารเคมีที่เหมาะสม
3.2.3 ทราบวิธีการเคลื่อนย้ายสารเคมีภายในห้องปฏิบัติการ
3.2.4 ทราบวิธีการใช้เครื่องป้องกันตนเองที่เหมาะสมต่อสารเคมี
3.2.5 ทราบจุดเก็บ และวิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆในกรณีสัมผัสสารเคมี
3.2.6 ทราบแนวทางการปฏิบัติในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เช่น เส้นทางออกจากห้องปฏิบัติการ วิธีปฏิบัติตนเมื่อสัมผัสสารเคมีอันตราย รวมถึงแนวทางการจัดการของเสีย
4. สุขอนามัยบุคคล (Personal hygiene)
4.1 หากผิวหนังถูกสัมผัสโดยสารเคมี ต้องล้างออกโดยทันทีด้วยน้ำประปา หรือน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที
4.2 หลีกเลี่ยงการสูดดมไอระเหยของสารเคมี ห้ามทดสอบชนิดของสารเคมีโดยการดมกลิ่นโดยตรงอย่างเด็ดขาด
4.3 ห้ามใช้ปากดูดไปเป็ต ให้ใช้อุปกรณ์ประกอบ เช่น ลูกยาง
4.4 เมื่อเลิกปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ควรล้างมือด้วยสบู่ และน้ำสะอาด
4.5 ห้ามดื่ม กิน เคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่ หรือ แม้แต่ทาเครื่องสำอางในห้องปฏิบัติการ
4.6 ห้ามนำเครื่องดื่ม อาหาร บุหรี่ และเครื่องสำอางเข้ามาเก็บในบริเวณห้องปฏิบัติการ
4.7 ห้ามใช้เครื่องไมโครเวฟในห้องปฏิบัติการเพื่อเตรียมกาแฟ อาหาร รวมทั้งห้ามใช้ตู้เย็นในห้องปฏิบัติการเพื่อเก็บอาหาร เช่นกัน
5. การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
ควรใส่เครื่องแต่งกายให้รัดกุม และเหมาะสม ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหลวม ผ้าคลุมผม ควรใส่เสื้อกาว แขนยาวตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันการกระเซ็นและปนเปื้อนของสารเคมี ไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น หรือ กระโปรงสั้น รวมทั้งไม่ควรใส่รองเท้าแตะในการปฏิบัติงาน ไม่ควรสวมเครื่องประดับในระหว่างปฏิบัติงานเพราะอาจได้รับการปนเปื้อนของสารเคมี เมื่อต้องปฏิบัติงานกับสารเคมีอันตรายควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม (Personal protective equipment )เช่น เมื่อต้องปฏิบัติงานกับสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ควรใส่ถุงมือที่เหมาะสม และสามารถป้องกันการซึมผ่านของสารเคมีนั้นได้ ใส่แว่นตาเพื่อป้องกันการกระเซ็นของสารเคมีเข้าตา อย่างไรก็ตามควรถอดถุงมือที่ใส่ระหว่างปฏิบัติงาน เมื่อต้องรับโทรศัพท์เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมี ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งควรถอดเสื้อกาว เมื่อออกจากห้องปฏิบัติการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสารเคมีจากห้องปฏิบัติการ
6. การจัดการภายในอาคารปฏิบัติการ (House keeping)
6.1 ควรช่วยกันรักษาความสะอาดของพื้นที่ทำงาน ทำความสะอาดพื้นที่ทำงานทุกครั้งเมื่อเสร็จภารกิจในแต่ละวัน
6.2 ควรทิ้งขยะ และของเสียในภาชนะที่จัดเตรียมไว้
6.3 ควรแยกเครื่องแก้วแตก ในภาชนะรองรับที่แยกต่างหากจากของเสียอื่นๆ
6.4 ไม่ควรเก็บสารเคมีในบริเวณทางเดิน บันได หรือวางบนพื้น ควรเก็บในพื้นที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ
6.5 ภาชนะบรรจุสารเคมีทุกขวด ควรมีป้ายฉลากที่ชัดเจน
6.6 เมื่อสิ้นสุดภารกิจในแต่ละวันควรเก็บขวดสารเคมี กลับเข้าที่
6.7 ของเสียที่เป็นสารเคมีควรแยกเก็บ พร้อมติดป้ายฉลากระบุชนิดของสารเคมีให้ชัดเจน
6.8 จัดให้มีการทำความสะอาดห้องปฏิบัติการเป็นประจำ กรณีที่มีการหกของสารเคมีต้องทำความสะอาดโดยทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น