1.การจัดการสารเคมีที่เป็นสารพิษ (Toxic chemicals)
การพิจารณาระดับความเป็นพิษของสารเคมีอาจพิจารณาจากค่า TLV(Threshold limit values) หรือ PEL( Permissible exposure limits) ซึ่งกำหนดระดับความเข้มข้นของสารเคมีสูงสุดที่มีได้ในอากาศ โดยปกติสารเคมีถูกจัดเป็นสารพิษ (Toxic chemicals)เมื่อมีค่า TLV หรือ PEL ต่ำกว่า 50 ppm นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาความเป็นพิษของสารเคมีจากค่า LD50(Lethal dose) หรือ LC50(Lethal concentration) โดยที่ LD50เป็นการระบุความเข้มข้นของสารเคมีที่ให้สัตว์ทดลองตายลง 50 % โดยสัตว์ทดลองได้รับสารเคมีนั้นโดยการกิน การฉีด หรือการดูดซึม(Absorption) หรือ การหายใจ ขณะที่ LC50 เป็นการระบุความเข้มข้นของสารเคมีที่ให้สัตว์ทดลองตายโดยการหายใจเท่านั้น ปกติค่าเหล่านี้จะมีระบุอยู่ในข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ (MSDS) ของสารเคมีนั้นๆ
2.การจัดการสารเคมีไวไฟ (Flammable chemicals)
สารเคมีไวไฟหมายถึงสารเคมีที่มีจุดวาบไฟ (Flash point) ที่อุณหภูมิต่ำกว่ากว่า 93.3 0ซ. ถือเป็นสารเสี่ยงต่อการติดไฟ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายจากเพลิงไหม้ได้ การจัดเก็บสารเคมีไวไฟควรเก็บในตู้เก็บสารเคมีสำหรับสารเคมีไวไฟเท่านั้น ควรเปิดตู้เมื่อจำเป็นเท่านั้น การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีไวไฟ ต้องทำในตู้ดูดควันเท่านั้น หลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดประกายไฟ
3.การจัดการสารเคมีที่ไวต่อปฏิกิริยาเคมี (Reactive chemicals)
สารเคมีที่ไวต่อปฏิกิริยาเคมี ได้แก่ สารจำพวก Oxidizer, Organic peroxide และสารที่ระเบิดได้ (Explosive) การเคลื่อนย้ายสารเหล่านี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ควรเก็บแยกจากสารประเภทอื่น นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการผสมสารเหล่านี้ เข้ากับสารเคมีตัวอื่นโดยไม่จำเป็น การปฏิบัติงานกับสารในกลุ่มนี้ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสม
4.การจัดการสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน และอันตรายต่อการสัมผัส (Corrosive chemicals and contact hazard chemicals)
สารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ในที่นี้หมายถึงสารเคมีที่มีผลทำลายหรือเปลี่ยนแปลงเซลล์สิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงสารเคมีที่สามารถกัดกร่อนโลหะอีกด้วยการปฏิบัติงานกับสารในกลุ่มนี้ควรทำในตู้ดูดควัน รวมทั้งควรใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสม
5.การจัดการสารที่ก่อมะเร็ง (Carcinogens)
ข้อมูลเกี่ยวกับสารก่อมะเร็ง สามารถสืบค้นได้จากหน่วยงานที่ศึกษา และทำวิจัยเกี่ยวกับมะเร็ง ที่สำคัญ ได้แก่ IARC (The International Agency for Research on Cancer) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์กรอนามัยโลก ( World Health Organization) ทั้งนี้ IARC ได้แบ่งสารก่อมะเร็งออกเป็นหลายหมวดหมู่ ขึ้นอยู่กับความสามารถก่อมะเร็งของสารนั้นๆ รายชื่อสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งสามารถตรวจค้นได้ที่ http://www.iarc.fr นอกจากนี้อาจสืบค้นสารก่อมะเร็งได้จาก http://www.cdc.gov/niosh/npotocca.html ซึ่งเป็นเว็บไซด์ของสถาบันความปลอดภัยในอาชีพและสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Occupational Safety and Health) หรือ NIOSH หน่วยงานภายใต้กรมสุขภาพและบริการ (Department of Health and Human Service) ประเทศสหรัฐอเมริกา
6.การจัดการท่อบรรจุก๊าซ (Compressed gas cylinders)
ห้องปฏิบัติการที่มีการใช้ท่อบรรจุก๊าซ ควรมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอันตรายซึ่งอาจเกิดได้จากตัวก๊าซเอง ก๊าซบางตัวอาจติดไฟง่าย บางตัวก่อให้เกิดการระเบิด นอกจากนี้การบรรจุก๊าซไว้ในท่อความดันสูง ก็เป็นอันตรายเนื่องจากแรงดันของก๊าซภายในท่อ หากเกิดการเสียหายบริเวณวาล์วเปิดปิด แรงดันก๊าซที่พุ่งออกมาทำให้ท่อบรรจุก๊าซเปรียบได้กับท่อจรวดทีเดียว จำเป็นต้องมีการป้องกันการล้ม หรือ กระแทก โดยการผูกคล้องด้วยโซ่รัดกับฝาผนัง การเคลื่อนย้ายท่อบรรจุก๊าซ ควรปิดฝาหุ้มวาล์วก่อนทุกครั้ง ควรใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการเคลื่อนย้าย เช่น รถเข็น ไม่ควรใช้มือยกบริเวณวาล์วเพื่อป้องกันการเสียหายของวาล์ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น