Ads

วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

ปัจจุบัน กรมประมง ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการ ตามศูนย์ฯ และ สถานี ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เฉพาะสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเอง มีห้องปฏิบัติการกระจายอยู่ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลกว่า 20 แห่ง โดยให้บริการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ เช่น การให้บริการตรวจวิเคราะห์สารปฏิชีวนะตกค้างในผลผลิตกุ้งทะเลจากฟาร์มเลี้ยง การตรวจโรค ไวรัสกุ้งทะเลโดยเทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction) รวมถึงการให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ และดินจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้มีการใช้สารเคมีในการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้สารเคมีที่ใช้บางตัวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานได้ อันตรายดังกล่าวอาจที่เกิดจากการสัมผัสสารเคมีโดยตรง การกลืนกิน หรือ การสูดดมสารเคมี ผลที่ได้จากการรับสารเคมีอันตราย อาจเกิดอย่างเฉียบพลัน หรือ แบบเรื้อรัง สารเคมีบางตัวยังเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogen) สารเคมีบางตัวมีปฏิกิริยาที่รุนแรงก่อให้เกิดการระเบิด หรือติดไฟซึ่งนอกจากเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานแล้วยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการได้ ขณะเดียวกันของเสียที่เกิดจากการใช้สารเคมีจาก ห้องปฏิบัติการหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ การจัดทำคู่มือความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ(Laboratory safety manual) นับเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันทั่วไปในห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเป็นเรื่องใหญ่ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควรในประเทศไทย การจัดทำคู่มือความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการในครั้งนี้ใช้แนวทางการจัดทำคู่มือความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแนวทาง เพื่อนำมาประยุกต์ ใช้กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง และใช้เป็นเอกสารประกอบการสืบค้นข้อมูลด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งเป็นการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการของกรมประมงให้ได้มาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น